10/11/2552

เรียนรู้พัฒนาการของลูกรักวัย 6 เดือน - 4 ขวบ

หนูน้อยวัย 6 เดือน

หนูสามารถ:

นั่งเองได้ โดยมีผู้ใหญ่คอยช่วยพยุง

คว่ำหงายได้

อื้ออ้า...และส่งเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากได้

เอื้อมมือคว้าของเล่นและคว้าจับคนที่คุ้นเคยได้

ยิ้มให้เมื่อเห็นใบหน้าของคนคุ้นเคย

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

ทำเสียงซ้ำๆ กับทารกวัย 6 เดือนทำ เช่น "หม่ำ หม่ำ...

แล้วจะเห็นว่าลูกคุณยิ่งทำเสียง...อืออา..บ่อยขึ้น

พูดคุยกับลูกขณะป้อนอาหาร อาบน้ำ หรือ ขณะแต่งเนื้อแต่งตัวให้ลูก เพื่อช่วยให้ช่วงเวลาดังกล่าวมีความเพลิดเพลิน สนุกสนานมากขึ้นสำหรับลูก

สอนให้ลูกเรียนรู้ที่มาที่ไปของเสียงที่ลูกได้ยิน ด้วยการพูดคุยกับลูกเพื่อเป็นการบอกเล่าให้ลูกรับรู้ เช่น...
"แน่ะ...เสียงคุณพ่อเรียกลูกแน่ะจ้ะ...."
"ลูกได้ยินเสียงหมาเห่ามั้ยจ๊ะ"
"เสียงกริ่งที่ประตูหน้าบ้านดังจ้ะ ไปดูกันดีกว่าว่าใครมาหาเรา"

หนูน้อยวัย 12 เดือน
หนูสามารถ:

คลานได้และเกาะโซฟาเพื่อพยุงตัวลุกขึ้นยืนเองได้
เลียนเสียงคุณแม่และเลียนแบบสีหน้าของคุณแม่เพื่อแสดงอารมณ์ได้
พูดได้ 2 - 3 คำ
ชอบเล่นเกมจ๊ะเอ๋
เอนตัวหาผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยเพื่อให้ผู้ใหญ่แสดงความรัก หรือเพื่อขอความช่วยเหลือ
มองหาเมื่อคุณแม่ส่งเสียงเรียก
ส่งของเล่นจากมือซ้ายไปยังมือขวาได้ (หรือจากมือขวามายังมือซ้าย)

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

ออกเสียงเรียกชื่ออวัยวะพร้อมทั้งชี้ส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ลูกรู้จัก เช่น ตา, หู, จมูก, ปาก, หรือ พุงกลม
ให้ลูกนั่งตักเพื่อชี้ชวนกันดูอัลบั้มรูปภาพสมาชิกในครอบครัว คุณแม่ควรส่งเสียงแสดงความตื่นเต้น สนุกสนานเมื่อเห็นรูปภาพที่น่าสนใจ ให้ลูกรู้ว่าเราสนใจ เอาใจใส่ความคิดของลูกน้อย
ให้ลูกได้เคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ไปยังส่วนต่างๆ ในบริเวณบ้าน กระตุ้นให้ลูกพยายามคลาน เดินเตาะแตะไปหาของเล่น หรือหาคนคุ้นเคยที่นั่งอยู่ใกล้ๆ คุณแม่ควรให้กำลังใจลูกน้อยด้วยการยิ้ม หรือปรบมือให้ลูก ลูกจะรู้สึกภาคภูมิใจและอยากลองทำอีก

หนูน้อยวัย 18 เดือน

หนูสามารถ:

เดินได้เอง หรือเดินเองได้โดยมีผู้ใหญ่ช่วยพยุงนิดหน่อย

เข้าใจความหมายของคำมากขึ้น แต่ยังพูดได้น้อยกว่าที่เข้าใจ

ร้องขอสิ่งของง่ายๆ ได้ เช่น นม, น้ำ
ต้องการให้ผู้ใหญ่หันมาแสดงความสนใจตัวหนูอย่างใกล้ชิด

ถอดถุงเท้า รองเท้า และถอดเสื้อเองได้

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

ปล่อยให้ลูกได้เล่นสนุกกับ น้ำ, ทราย และพรายฟองของน้ำ คุณแม่ควรหาช้อน ถ้วยใบเล็ก และที่ตัก ให้ลูกได้รินน้ำ เทน้ำ เติมน้ำ กรอกน้ำจนล้นขวด แล้วเทน้ำออกจากขวด เล่นสนุกกับการตีน้ำให้กระจาย เป็นต้น
เมื่อออกไปข้างนอก หรือไปสถานที่แปลกตา คุณแม่ควรให้เวลากับลูกในการสำรวจผู้คน และสิ่งของต่างๆ เพราะลูกน้อยกำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในอาชีพต่างๆ เช่น บุรุษไปรษณีย์ ตำรวจ พนักงานขายของ พนักงานขับรถเมล์ หรือสิ่งของต่างๆ เช่น กระดาษห่อของ, หรือสัตว์ อย่าง ผีเสื้อและแมลงต่างๆ (ที่ไม่มีพิษ) ปล่อยให้ลูกสนุกกับการค้นพบสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต!
หนูน้อยวัย 18 เดือนนี้ กำลังเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ และสามารถทำอะไรเองได้หลายอย่างมากขึ้นทุกวัน หนูน้อยเพลิดเพลินกับการเลียนแบบท่าทางของผู้ใหญ่และกิจวัตรประจำวันของคุณแม่ เช่น โยกย้ายส่ายสะโพกเมื่อได้ยินเสียงเพลง, ทำท่ากำลังรับประทานอาหาร, ทำนิ้วเคลื่อนไหวไปมา
นอกจากนั้น ลูกวัยนี้ยังชอบเลียนแบบคำพูดของคุณแม่อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคำกลอนดอกสร้อยง่ายๆ ที่คุณแม่มักท่องให้ฟังเป็นประจำ, เรียกชื่อสมาชิกในครอบครัว, ส่งเสียงบรื้นๆ เลียนแบบเสียงรถของเล่น หรือแม้กระทั่ง เลียนเสียงสัตว์ต่างๆ เช่น เสียงสุนัขเห่าบ็อกๆ หรือ โฮ่งๆ เสียงแมวร้องเหมียว เหมียว เสียงลูกหมูร้องอู๊ด อู๊ด เป็นต้น

หนูน้อยวัย 2 ขวบ

หนูสามารถ:

ประสมคำ 2 คำเข้าด้วยกันเพื่อพูดเป็นประโยค เช่น "นมอีก", "พ่อ - บ้าน" (ลูกหมายถึง คุณพ่ออยู่บ้าน)
แทนชื่อตัวเองได้เมื่อพูดถึงตัวเอง

เดิน วิ่ง กระโดด และโยนลูกบอลได้

ชอบทำอะไรด้วยวิธีของตัวเอง และ เอ่ยคำว่า "ไม่" บ่อยขึ้น

ชอบเล่นกับเด็กอื่น แต่ยังไม่ยอมแบ่งปันของเล่นด้วย

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

เมื่อพาลูกไปเดินเล่น ลูกจะชอบและสนุกกับการออกไปชมนกชมไม้นอกบ้าน บางครั้งอาจเที่ยวปีนป่ายเครื่องเล่น หรือสิ่งต่างๆ ขณะที่ยังจับมือคุณพ่อคุณแม่อยู่ นั่นถือว่าคุณแม่กำลังกระตุ้นให้ลูกได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตของลูกเลยทีเดียว
แม้ว่าลูกน้อยวัยนี้จะพูดคำว่า "ไม่" บ่อยขึ้น แต่ควรปล่อยให้ลูกวัย 2 ขวบรู้ว่า คุณกำลังฟังเขาอยู่ แม้ว่าไม่อาจทำตามสิ่งที่ลูกต้องการได้ก็ตามที
"แม่รู้ว่าหนูกำลังสนุก อยากอยู่เล่นต่อ แต่เราต้องกลับบ้านเดี๋ยวนี้แล้วล่ะจ้ะ" หรือ
"จ้ะ แม่รู้ว่าลูกอยากกินขนม 2 ชิ้นนี้ แต่ลูกทานได้แค่ชิ้นเดียวเท่านั้นจ้ะ"
ลูกจะเรียนรู้ว่าคุณแม่ใส่ใจความรู้สึก และความต้องการของลูก รู้ว่าตัวลูกเป็นคนสำคัญของคุณแม่ ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นกับความรัก และความเอาใจใส่ของคุณแม่

หนูน้อยวัย 3 ขวบ

หนูสามารถ:
เดินขึ้นบันไดสลับเท้าได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่ยังต้องจับราวบันได

ชอบพูดคุยถึงสิ่งที่ตัวเองรู้ และเล่าเรื่องสมมุติได้

เข้าห้องน้ำระหว่างวัน

รู้ความแตกต่างระหว่างเด็กชายและเด็กหญิง

เริ่มรู้จักแบ่งปันของเล่น และรู้จักเล่นกับเด็กคนอื่น

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:
เด็กวัยนี้มักชอบเลียนแบบกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคุณพ่อคุณแม่ เช่น พับผ้า ล้างจาน กวาดบ้าน ล้างรถ ถูพื้น ถึงแม้ว่าลูกอาจยังไม่สามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้จริงๆ แต่ควรปล่อยให้ลูกมีโอกาสช่วยงานประจำวันเหล่านี้บ้างเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญขึ้นมาทันที

ให้โอกาสลูกน้อยวัย 3 ขวบ ได้เลือกกิจกรรมเองว่าลูกอยากทำอะไร

"ลูกอยากระบายสี หรือว่าเล่นโยนลูกบอลกันดีจ๊ะ"

"ลูกอยากใส่อะไรก่อนหลังจ๊ะ ระหว่างถุงเท้า กับเสื้อ"

คุณแม่อาจช่วยลูกน้อยตัดสินใจเกี่ยวกับพฤติกรรมในแง่บวก เช่น

"ถ้าลูกอยากเล่นของเล่นในกะละมังใส่น้ำนี่ล่ะก็ เราต้องออกไปเล่นข้างนอกกันจ้ะ

ไม่อย่างนั้นพื้นตรงนี้จะเปียก"

การช่วยลูกตัดสินใจจะช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้ลูก และลูกจะรู้สึกประสบความสำเร็จ ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

หนูน้อยวัย 4 ขวบ

หนูสามารถ:

กระโดดขาเดียวได้ รับลูกบอลได้ เมื่อคุณแม่โยนลูกบอลให้

ร้องเพลงง่ายๆ ได้ และท่องบทคล้องจองสำหรับเด็กได้

วาดรูปใส่กระดาษด้วยดินสอเทียน

พูดให้คนอื่นเข้าใจได้
ชอบเล่นบทบาทสมมุติ เช่น อาจเล่นเป็นคุณหมอ คุณครู พยาบาล ตำรวจ ทหาร ฯ แต่บางครั้งยังแยกไม่ออกระหว่างเรื่องจริงกับบทบาทสมมุติ

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

รวบรวมเสื้อผ้าที่เลิกใช้แล้ว และเครื่องประดับต่างๆ เช่น สร้อยคอ กำไล อุปกรณ์แต่งตัวต่างๆ เช่น หมวก ถุงเท้า ฯ ใส่ในกล่อง หรือตะกร้าสำหรับลูก ลูกน้อยจะสนุกสนานในการเล่นเลียนแบบเป็นบุคคลต่างๆ เช่น คุณครู คุณหมอ พยาบาล นักเต้น นักขับรถแข่ง ฯ หรือแม้กระทั่งเล่นเลียนแบบทำท่าเป็นตัวคุณแม่เอง - ถ้าคุณแม่เล่นกับลูกด้วยจะยิ่งเพิ่มความสนุกสนานให้ลูกมากขึ้นไปอีก!
ลูกวัยนี้สนุกกับการเล่าเรื่องสมมุติให้คุณแม่ฟัง คุณแม่ควรพิมพ์นิทานหรือเรื่องเล่าสมมุติที่ลูกเล่าให้ฟังใส่กระดาษ และหารูปภาพติดประกอบ เพื่อเพิ่มความน่าสนุกให้นิทานที่ลูกแต่งขึ้น
จากนั้น นำไปใส่กรอบและติดที่ผนังบ้าน เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนได้เห็น เป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้ลูก เมื่อมีญาติพี่น้องมาเยี่ยม ขอให้ญาติๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย คุณน้า คุณป้า พี่ๆ ถามไถ่ ให้ลูกเล่าเกี่ยวกับเรื่องที่ลูกแต่งขึ้น
เมื่อลูกต้องการความช่วยเหลือจากคุณแม่ คุณแม่ควรให้ความร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหา เช่น
"ใช่จ้ะ แม่เห็นของเล่นลูกหักไปนิดหนึ่ง ลูกว่าเราจะช่วยกันซ่อมได้มั้ยจ๊ะ" หรือ
"เรานั่งกันอยู่ 3 คน แต่มีขนมแค่ 2 ชิ้น ลูกว่าเราควรจะทำอย่างไรกันดีจ๊ะ"
การได้ใช้เวลาเฝ้าติดตาม เอาใจใส่พัฒนาการของลูกน้อย นับเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและมีความสุขสำหรับพ่อแม่อย่างเราๆ ยิ่งได้เห็นลูกมีความก้าวหน้าในพัฒนาการด้านต่างๆ ยิ่งชื่นใจ
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักว่า เด็กแต่ละคนอาจเติบโตและมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไปบ้าง บางคนอาจมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กวัยเดียวกันบ้างแต่ก็เจริญเติบโตและมีพัฒนาการตามปกติเมื่อถึงเวลา หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก ควรปรึกษาแพทย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มาฟังเพลงใหม่ ๆ กับ DJ.Meemeo