10/11/2552

สอนลูกรักให้รู้จักความรับผิดชอบต่อสังคม

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมอยากเห็นลูกรักเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคม รู้จักแยกแยะความชั่วร้ายและความดีงาม อยากให้ลูกมีความรู้สึก มีความคิด และมีการกระทำที่ รู้จักรักและ ให้เกียรติคนอื่น เท่าๆ กับที่รู้จักรักและให้เกียรติตัวเอง

การที่ลูกจะมีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมต้องอยู่ที่ฝีมือการเลี้ยงดู และได้รับการอบรมกล่อมเกลาจากคุณพ่อคุณแม่นั่นล่ะค่ะ
ก่อนอื่น ลูกควรเรียนรู้ว่า ความรู้จักรับผิดชอบ เป็นอย่างไร
1. รู้จักให้เกียรติผู้อื่น และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
2. ฝึกฝนตนเองให้มีความซื่อสัตย์อยู่เสมอ
3. กล้าที่จะยืนหยัด และแสดงออกในจุดยืนที่ตนเชื่อมั่น
4. รู้จักรัก นับถือ และให้เกียรติตนเอง
ข้อแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่พึงปฏิบัติต่อลูกๆ เพื่อช่วยให้ลูกมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมและคนรอบข้าง
1. คอยหาโอกาสเหมาะๆ ที่จะสอนลูกให้มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมและคนรอบข้าง ด้วยการ แบ่งปันประสบการณ์ที่ผ่านมาให้ลูกฟังเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยา คุณธรรมความดีงาม ความถูกต้องตามคำนองคลองธรรม และบทเรียนสอนใจต่างๆ
2. เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกในการแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วยความจริงใจ รู้จักเอาใจใส่คนรอบข้างที่มีเรื่องทุกข์ใจ
3. อ่านนิทานที่มีบทเรียนสอนใจให้ลูกฟัง ถึงความกล้าหาญของคนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
4. พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน เพื่อช่วยให้เด็กๆ เข้าใจว่า การตัดสินใจกระทำการบางอย่างของลูกอาจสร้างความเดือดร้อนให้สังคมและคนรอบข้างได้
5. พบและพูดคุยกับครูประจำชั้น เพื่อให้ความร่วมมือกับคุณครูเพื่อส่งเสริมให้ลูกมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมและคนรอบข้าง
เทคนิคการส่งเสริมให้ลูกรักโตขึ้นอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและคนรอบข้าง
สำหรับลูกวัยหนูน้อย
ความซื่อสัตย์เป็นนโยบายที่ดีที่สุด
1. เล่านิทานเรื่อง "เด็กเลี้ยงแกะ" ให้ลูกฟัง เป็นนิทานเกี่ยวกับผลร้ายของความเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ เนื่องจากเด็กเลี้ยงแกะพูดเท็จหลายครั้งหลายหนว่า หมาป่าจะมากินลูกแกะที่ตนดูแลอยู่ ทำให้ชาวบ้านละทิ้งงานพากันวิ่งมาช่วยเด็กเลี้ยงแกะ แต่กลับถูกเด็กเลี้ยงแกะหัวเราะเยาะ ที่หลอกชาวบ้านสำเร็จ ต่อมา เมื่อเด็กเลี้ยงแกะบอกว่า มีหมาป่ามากินแกะจริงๆ กลับไม่มีใครเชื่อ และมาช่วยเหลือได้ทัน
2. ถามลูกว่า ถ้ามีใครมาโกหกลูก พูดปดกับลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร
3. เมื่อคุณพ่อคุณแม่สัญญาสิ่งใดไว้กับลูก แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตามที ควรรักษาคำพูดและ ทำตามสัญญาที่ให้กับลูกไว้
สำหรับลูกวัยประถมขึ้นไป
มอบหมายงานให้ลูกรับผิดชอบ
1. เมื่อลูกโตขึ้น ควรมอบหมายงานบ้านบางอย่างให้ลูกทำและรับผิดชอบ
2. เมื่อลูกโตขึ้นมาอีกนิด มอบหมายหน้าที่เพิ่มให้ลูกรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน หรือ ภาระบางอย่างที่ลูกพอจะทำได้ เช่น โทรศัพท์จองร้านอาหาร จดบันทึกบัญชีรับจ่ายประจำบ้าน ฯ อย่าลงโทษลูกด้วยการให้ทำงานบ้าน
ในทางกลับกัน ควรอธิบายให้ลูกทราบว่า การที่ลูกได้รับมอบหมายงานบ้านเพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพราะลูกโตขึ้น มีความสามารถมากขึ้น และลูกสามารถรับผิดชอบงานได้มากขึ้น
3. หน้าที่หรืองานที่มอบหมายให้ลูกทำนั้น ควรเหมาะสมกับความสามารถของลูก และควรเป็นงานที่ทำให้ลูกรู้สึกพอใจที่ได้ทำงานชิ้นนี้ เมื่อลูกทำสำเร็จ ควรชมเชยลูกโดยที่งานดังกล่าวควรเป็นงาน ที่ต้องใช้ความพยายามและท้าทายลูกพอสมควร
สำหรับเด็กทุกวัย
เรียนรู้จากผู้อื่นบ้าง
1. คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก สอนให้ลูกรู้ว่า การเย่อหยิ่งยโส ดูถูกผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะคนเราทุกคนย่อมมีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีฐานะความเป็นอยู่อย่างไร ยากจน หรือร่ำรวย พื้นเพ ภูมิหลัง สีผิว ศาสนา เพศ ฯ เราทุกคนเท่าเทียมกัน
2. คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงความกระตือรือร้น และสนใจที่จะเรียนรู้จากผู้อื่นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นจากญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ผู้สูงอายุ หรือจากหนังสือ และสื่อต่างๆ ที่ให้ความรู้ เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีในท้องถิ่นของตน และท้องถิ่นอื่น
3. คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้เกี่ยวดินแดนในแถบประเทศอื่น รวมถึงผู้คนที่อยู่อาศัยในประเทศนั้นๆ เรียนรู้ภาษาอื่นบ้างนอกจากภาษาไทย อ่านหนังสือ นิทานนานาชาติ รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับเด็กที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เป็นการแสดงให้ลูกเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่เองพยายาม ที่จะมองโลกจากมุมมองของคนอื่นที่อยู่ต่างถิ่น
4. ตั้งใจฟังลูกพูดเมื่อลูกต้องการอธิบายและเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ลูกค้นพบไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม ภูมิศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ และวิถีชีวิตของผู้คนต่างๆ ในท้องถิ่นและต่างถิ่น
ช่วยกันปลูกฝังคุณสมบัติดีๆ แก่ลูกน้อยกันนะคะ สังคมจะได้น่าอยู่มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มาฟังเพลงใหม่ ๆ กับ DJ.Meemeo