10/11/2552

เลือกของเล่นอย่างไรให้ปลอดภัยสำหรับลูกรัก

ของเล่นสำหรับเด็กทุกวันนี้มาในรูปแบบที่หลากหลายมาก บางครั้งเยอะแยะเสียจนคุณพ่อ คุณแม่แทบจะเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว ของเล่นที่ดีมีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้คุณ หนูๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ส่งเสริมให้เด็กมีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และยังช่วย ให้ตาและมือของลูกทำงานประสานกันได้ดีอีกด้วย

โรงงานผู้ผลิตของเล่นหลายแห่งได้พยายามคิดค้นประดิษฐ์ของเล่นที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยผลิตของเล่นที่นอกจากให้ความสนุกสนานแล้วยังคำนึงถึงความปลอดภัยของหนูน้อยอีกด้วย แต่บางโรงงานก็มิได้คำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของเด็กมากนัก ดังนั้น จึงเป็น หน้าที่และงานที่ท้าทายความสามารถของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องพิจารณาและเลือกหา แต่ของเล่นที่มีประโยชน์ มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยสำหรับลูกรัก
คุณล่ะคะ มีเทคนิคอย่างไรในการพิจารณาเลือกของเล่นให้ลูกน้อย?
สิ่งที่คุณควรคำนึงถึง เมื่อเลือกซื้อของเล่นให้ลูก

มีดังต่อไปนี้
1) หลีกเลี่ยงของเล่นที่มีลักษณะของการเหนี่ยวไกและยิงออกไปยังเป้าหมาย รวมทั้งของเล่น บางอย่างที่มีชิ้นส่วนซึ่งสามารถบิน, หรือกระเด็นออกไปยังเป้าหมายได้ เช่น ปืนมีลูกกระสุน พลาสติคเล็กๆ, ธนูและลูกธนู, ลูกดอกฯ ซึ่งเป็นอันตราย เพราะเป็นการเชิญชวนให้เด็กผู้เล่น มองหาเป้าหมาย ซึ่งมักจะเป็นเด็กๆ ด้วยกัน แล้วยิงใส่เป้าหมาย
2) ของเล่นที่มีเสียง ควรตรวจตราเช็คระดับความดังของเสียง ว่าดังเกินไปสำหรับหูของ เด็กหรือเปล่า
3) ของเล่นสำหรับเด็ก ไม่ควรมีเหลี่ยม มุม ที่แหลมคม ซึ่งอาจบาดหรือตำมือของเด็กได้
4) หลีกเลี่ยงที่จะซื้อของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็กๆ ให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ ทั้งนี้เพราะเด็ก อายุต่ำกว่า 3 ขวบมักชอบหยิบของใส่ปากเล่น อาจทำให้ชิ้นส่วนเล็กๆ เหล่านี้เข้าไปติดคอ สำลัก อุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจไม่ออกและเสียชีวิตในที่สุดได้
5) เมื่อซื้อของเล่นให้ลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านเอกสารกำกับของเล่นที่ติดมาในกล่อง อย่างละเอียดทุกครั้ง ว่าเก็บรักษาอย่างไร มีข้อห้ามประการใดบ้าง รวมทั้งเหมาะสมกับ ความสามารถและอายุของเด็กในวัยใด ทั้งนี้เพราะของเล่นไม่ได้ผลิตมาเพื่อให้เหมาะสม กับความสามารถและอายุของเด็กอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยของเด็กในวัยนั้นๆ ด้วย
6) หากเป็นของเล่นที่ผลิตหรือซื้อหามาจากต่างประเทศ ควรศึกษาและมองหา สัญลักษณ์ที่แสดงความปลอดภัย ได้มาตรฐานของหน่วยงานในแต่ละประเทศ เช่น ASTM (American Society for Testing and Materials) แสดงว่าของเล่นชิ้นนั้นมีความปลอดภัยได้มาตรฐานแห่งชาติ ของหน่วยงาน ทดสอบความปลอดภัยของเล่นแห่งสหรัฐอเมริกา
ส่วนของเล่นที่วางขายในยุโรป ควรมองหาสัญลักษณ์ CE ถ้าฝากเพื่อนซื้อในอังกฤษ ให้มองหาสัญลักษณ์ BSI (British Standards Institution) สำหรับของเล่น ที่ซื้อมาจากญี่ปุ่นควรมีสัญลักษณ์ ST (Safe Toys) ซึ่งควบคุมโดย the Japan Toy Association (JTA) มาถึงฮ่องกงใกล้บ้านเราเข้ามาหน่อย ฮ่องกงเอง มีหน่วยงานสองแห่งที่เป็นบริษัททดสอบของเล่นว่าได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือไม่ นั่นคือ Hong Kong Standards และ บริษัท Testing Centre จำกัด
และท้ายสุด ขาดเสียไม่ได้ นั่นคือของเล่นที่ผลิตจากประเทศจีน ก็ยังมี หน่วยงาน ที่ชื่อว่า Chinese Manufacturers' Association Testing and Certification Laboratories เป็นผู้ตรวจสอบเกณฑ์มาตรฐานของเล่น ทั้งนี้ ของเล่นจากจีนและฮ่องกง หากผ่านการตรวจสอบโดยหน่วยงานดังกล่าว ถ้าเข้ามาขายในญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็ยังตีตรา ST ให้ด้วยบนกล่องของเล่น เพื่อแสดงความปลอดภัยและมีมาตรฐาน
สำหรับในประเทศไทย คือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Thai Industrial Standards Institute) หรือชื่อย่อๆ ว่า มอก. โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนด ให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ที่เกี่ยวกับของเล่น มีผลบังคับใช้เมื่อ 5 มค. 2542 มีการ กำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานดังมีรายละเอียดในเอกสารต่อไปนี้

1 มอก. 685 เล่ม 1-2540 ของเล่น เล่ม 1 ข้อกำหนดทั่วไป
วันที่มีผลใชับังคับ 5 ม.ค. 2542
2 มอก. 685 เล่ม 2-2540 ของเล่น เล่ม 2 ภาชนะบรรจุและฉลาก
วันที่มีผลใชับังคับ 5 ม.ค. 2542
3 มอก. 685 เล่ม 3-2540 ของเล่น เล่ม 3 วิธีทดสอบและวิเคราะห์
วันที่มีผลใชับังคับ 5 ม.ค. 2542
ซึ่งคงต้องไปหาอ่านกันเองนะคะ (รายละเอียด กรุณาติดต่อกับ มอก. Tel: 02-202-3300 - 04 Fax: 02-202-3415 email: thaistan@tisi.go.th)
ฉะนั้น จะซื้อของเล่นให้ลูกในประเทศไทย มองหาสัญลักษณ์ มอก. ไว้เป็นดีที่สุด
7) ก่อนเสียเงินซื้อของเล่นแต่ละชิ้น พยายามคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกขณะซื้อมากที่สุด ถึงแม้ว่าคุณจะซื้อของเล่นให้เด็กคนอื่นเพื่อเป็นของขวัญวันเกิด หรือรางวัลต่างๆ ก็เช่นกัน เมื่อซื้อแล้ว นำของเล่นมาให้ลูกเล่น คุณควรอธิบายให้ลูกฟังด้วยถึง วิธีการเล่นที่ถูกต้อง อย่าให้เด็กเดา หรือเล่นของเล่นแผลงๆ อาจเป็นอันตรายได้
8) เมื่อของเล่นเสีย, บุบ หรือมีชิ้นส่วนหัก งอ หรือไม่อยู่ในสภาพเดิม ควรจัดการซ่อมแซม ให้เรียบร้อย ถ้าไม่อาจซ่อมได้ และดูแล้วอาจมีชิ้นส่วนที่สามารถทำอันตรายแก่ลูกได้ ควร นำไปเก็บให้พ้นมือ ไม่ให้ลูกนำมาเล่นอีก
9) เก็บของเล่นสำหรับเด็กโตให้พ้นมือเด็กเล็ก เพราะของเล่นเด็กโต อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก เล็กได้ หากนำมาเล่นผิดวิธี
10) เมื่อลูกโตแล้ว พ้นวัยที่จะเล่นของเล่นชนิดนั้นแล้ว ควรเก็บให้เรียบร้อย หรือบริจาคให้ผู้อื่น ที่มีลูกอยู่ในวัยที่เหมาะสมกับของเล่นชนิดนี้
ของเล่นที่ไม่เหมาะสมกับวัยของลูก นอกจากจะเกิดอันตรายที่ไม่คาดคิดแล้ว เด็กที่เล่นของเล่น แบบแผลงๆ หรือผิดวัตถุประสงค์ของวิธีการเล่นของเล่นยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ด้วย ฉะนั้น ควรให้ลูกนั่งเล่นของเล่นในที่เปิดเผย อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ บางครั้งอาจเขียน กฎเกณฑ์เล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมาถึงระเบียบและวิธีการเล่นของเล่น แล้วให้ลูกดู อธิบายให้ลูกฟัง (ถึงแม้ลูกจะอ่านไม่ออก แต่ลูกก็ได้ยิน และดีกว่าไม่เคยได้ยิน หรือไม่ทราบกฎเกณฑ์การเล่น ของเล่นมาก่อนเลย) ถ้าลูกเล่นของเล่นกับเพื่อน ลูกจะได้นำสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนไปแนะนำ วิธีและกฎเกณฑ์การเล่นของเล่นที่ถูกต้องให้แก่เพื่อนๆ ด้วย
ที่สำคัญ เมื่อเล่นแล้ว อย่าลืมเตือนลูก และฝึกนิสัยให้ลูกเก็บของเล่นให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะถึงแม้ว่า คุณพ่อคุณแม่ซื้อของเล่นที่ปลอดภัย ได้มาตรฐานให้ลูกเล่นแล้ว แต่ถ้าวาง เกะกะขวางทาง คุณแม่อาจเหยียบลื่นหกล้มได้นะคะ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มาฟังเพลงใหม่ ๆ กับ DJ.Meemeo