10/11/2552

ดอกไม้ไฟ อันตรายใกล้ตัว

ใกล้ถึงเทศกาลที่ผู้คนมักจะเล่นดอกไม้ไฟเข้ามาแล้วนะคะ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลวันลอยกระทง หรือเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ คงจะได้เห็น ดอกไม้ไฟและการจุดพลุกันบ่อยล่ะค่ะ

อันที่จริง เวลาได้ยินเสียงพลุ ยังอดไม่ได้ที่จะวิ่งออกมายืนดูที่ระเบียงบ้านชั้นบนกับลูกๆ เลยค่ะ สวยดีนะคะ ยิ่งตอนใกล้จบสวยมากๆ สีสันงามตระการตา หลากหลายรูปแบบ แต่ในความสวยงาม ก็มีอันตรายแฝงมาด้วยนะคะ หากเราอยู่ใกล้ๆ สถานที่จุดพลุ หรือ ใกล้คนที่กำลังจุดดอกไม้ไฟ และเล่นประทัดกัน.....
มาดูกันดีกว่าว่า ทำอย่างไร เราจึงจะปลอดภัย เมื่อถึงเทศกาลจุดดอกไม้ไฟเหล่านี้
ตามสถิติแล้วนะคะ เด็กๆ ที่ได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุดอกไม้ไฟ หรือประทัด แบ่งอาการบาดเจ็บออกเป็น 3 กลุ่ม นั่นคือ กลุ่มแรก มักได้แก่อาการบาดเจ็บผิวหนังไหม้ ไม่ว่าจะเกิดจากเศษไฟกระเด็น หรือการเล่นไม้ขีดไฟโดยเด็กเล็ก กลุ่มที่สอง คือ อุบัติเหตุดอกไม้ไฟระเบิดมักจะเกิดขึ้นที่มือ รวมทั้งนิ้วฉีก นิ้วหลุด และอาการบาดเจ็บที่นัยน์ตา สำหรับกลุ่มที่สาม ซึ่งบางครั้งผู้ใหญ่มักจะลืมนึกไป นั่นคือ อาการบาดเจ็บที่หู ซึ่งหากอยู่ใกล้สถานที่จุดดอกไม้ไฟ ประทัด หรือพลุ เมื่อจุดแล้วเกิดเสียงดังมาก เด็กๆ ที่อยู่ใกล้อาจเกิดอาการหูอื้อ ตึง ชาหรือหนวกไปชั่วคราว
ทีนี้ ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว ทำไม เราผู้ใหญ่ทั้งหลาย จึงยังปล่อยให้เด็กๆ ยืนดูดอกไม้ไฟ การจุดพลุ หรือการเล่นประทัดกันอยู่อีก...
เพราะว่า ดอกไม้ไฟ, พลุ พวกนี้มีสีสันสดใส สวยงาม สว่างไสว น่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ได้หาดูได้ง่ายๆ ทุกวันนี่คะ....ทุกคนไม่ว่าใครๆ ต่างก็ชอบดูดอกไม้ไฟ, ดูพลุกันทั้งนั้น จริงมั้ยคะ? เราอยากเห็นลูกมีความสุขที่ได้ดู ได้ยินเสียงลูกร้องอย่างน่าตื่นเต้นว่า "อู้ฮู้...สวยจังเลย" "มาอีกแล้ว มาอีกแล้ว..ลูกนี้ใหญ่กว่าเมื่อกี้อีก..." ฯ
การดูการแสดงดอกไม้ไฟ หรือดูพลุที่จุดโดยมืออาชีพนั้น เป็นคนละเรื่องเลย หากคุณคิดว่าจะมาจุดเล่นเองที่บ้าน ทั้งนี้การจุดดอกไม้ไฟ หรือประทัดเล่นเองที่บ้าน ไม่ควรทำอย่างยิ่ง และคิดว่า นั่นเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เด็กๆ ปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยดอกไม้ไฟและประทัด
คุณหมอเด็กเคยเล่าให้ฟังว่า ผู้ปกครองมักไม่ค่อยตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุโดยดอกไม้ไฟ หรือประทัด เพราะคิดว่า ดอกไม้ไฟที่มีคุณภาพจะปลอดภัยสำหรับเด็ก หรือบางทีคุณพ่อคุณแม่เองก็ทราบดีว่า มันอาจเกิดอันตรายได้ แต่ว่าพอหันหลังแค่เพียงนาทีเดียว ประโยคที่คุณหมอเด็กได้ยินบ่อยที่สุดจากคุณพ่อคุณแม่ก็ตามมา นั่นคือ ....ไม่คิดเลยว่าจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ แค่หันหลังไปหยิบของแป๊บเดียวเท่านั้นเอง...ลูกก็เป็นอย่างนี้แล้ว..."
เอาล่ะค่ะ...วิธีที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ นั่นคือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจุดประทัดและดอกไม้ไฟเล่นที่บ้าน เพราะไม่มีวิธีไหนเลยที่จะทำให้การจุดประทัดและดอกไม้ไฟเป็นไปอย่างปลอดภัย
แต่ถ้าคุณผู้ปกครองยังอดไม่ได้ที่อยากจุดดอกไม้ไฟ, ประทัด เล่นที่บ้านเพื่อฉลองเทศกาลล่ะก้อ...มีคำแนะนำที่พอเป็นประโยชน์บ้างมาฝากนะคะ.....

ต้องไม่อนุญาตให้เด็กๆ เล่นดอกไม้ไฟ หรือจุดดอกไม้ไฟ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้จุดดอกไม้ไฟ ควรอ่านและศึกษาคำแนะนำ, วิธีจุดและข้อห้ามในการจุดดอกไม้ไฟอย่างละเอียด
ก่อนเริ่มจุดดอกไม้ไฟ ควรกันให้ผู้ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ออกห่างบริเวณที่จะจุดดอกไม้ไฟให้เรียบร้อยเสียก่อน
จุดดอกไม้ไฟอย่างระมัดระวัง และหันออกห่างจากบ้านเรือน รวมทั้ง บริเวณที่มีใบไม้แห้ง, เศษกระดาษ และวัสดุที่ติดไฟง่าย
หากจุดดอกไม้ไฟติดครึ่งๆ กลางๆ คือติดไฟแล้วดับไปอีก ชนวนยังไม่ลุกไหม้เรียบร้อย อย่าพยายามจุดอีกครั้ง เพราะเราไม่แน่ใจว่าหากจุดอีกครั้งจะระเบิดทันทีเลยหรือไม่ ควรทิ้งดอกไม้ไฟ และต้องแน่ใจว่าไฟดับสนิทดีแล้ว
หาถังน้ำ หรือสายฉีดน้ำมาวางไว้ใกล้ๆ บริเวณที่จุดดอกไม้ไฟ เพื่อสะดวกในการหยิบมาใช้งานหากดอกไม้ไฟเกิดการขัดข้อง และเกิดเหตุไฟไหม้
อ้อ ขอแถมอีกข้อค่ะเพิ่งนึกขึ้นได้ งานเลี้ยงฉลองที่บ้านหากมีผู้ใหญ่ร่วมด้วยมักมีการดื่มเหล้ากัน...ฉะนั้น ต้องห้ามโดยเด็ดขาด! -- อย่าให้ผู้ที่ดื่มเหล้าเมาเป็นคนจุดดอกไม้ไฟนะคะ อาจพลั้งพลาดเป็นอันตรายได้ง่ายอย่างยิ่งทั้งต่อตัวเองและคนอื่น

เอาล่ะค่ะ
ขอให้ลูกหลานและผู้ปกครองทุกท่านปลอดภัย

ในช่วงเทศกาลงานฉลองที่มีการจุดดอกไม้ไฟนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มาฟังเพลงใหม่ ๆ กับ DJ.Meemeo